วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

ทาสแมว 7 สายพันธุ์






กระแสฮิตเจ้าเหมียวสี่ขาเริ่มมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่เจ้าของมักบรรยายความน่ารักให้ได้อ่านเพลิน แน่นอนว่า เมื่อได้เห็นดวงตากลมโตแสนบ้องแบ๊วคงอดไม่ได้ที่จะหลงรักและอยากเป็นเจ้าของ ลองศึกษานิสัยใจคอของแมวสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงวิธีการเลี้ยงดู โดยลองเปรียบเทียบจาก 7 สายพันธุ์แมวยอดนิยม ดังต่อไปนี้




1. แมวเปอร์เซีย (Persian)
          ราชินีแมวจากแดนตะวันออกกลาง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเปอร์เซีย หรือประเทศตุรกีกับอิหร่านในปัจจุบัน แมวเปอร์เซียถือเป็นแมวต่างประเทศสายพันธุ์แรกที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย สิ่งที่ทำให้แมวสายพันธุ์นี้ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่คนรักแมวก็เพราะว่า นอกจากจะมีหน้าตาน่าเอ็นดูแล้ว ขนปุกปุยของแมวเปอร์เซียยังมีสีสันที่หลากหลาย และนิสัยส่วนตัวก็น่ารักด้วย

      
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวเปอร์เซีย
          แมวเปอร์เซีย เป็นแมวที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกระดูกที่ใหญ่และแข็งแรง หัวและหน้ากลม หน้าผากโหนก แก้มเต็ม ดวงตากลมโต และอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน มีจมูกที่หัก กล่าวคือ สังเกตได้ชัดเจนเมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นจุดหักระหว่างจมูกกับหน้าผากชัดเจน เมื่อมองจากด้านหน้าจะเห็นเป็นขีดอยู่ระหว่างดวงตา

         
 นอกจากหน้าตาที่น่ารักแล้ว ยังเป็นแมวที่มีอุปนิสัยอ่อนโยน เข้ากับคนอื่นได้ง่าย มีความร่าเริงซุกซน ปีนป่ายไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อหาของมากัดเล่น ช่างประจบประแจง และเป็นแมวที่มีไหวพริบมากทีเดียว


           การเลี้ยงดูแมวเปอร์เซีย
          เมื่อตัดสินใจจะเลี้ยงแมวพันธุ์นี้แล้ว จงพึงระลึกไว้เสมอว่า การดูแลขนของแมวเปอร์เซียเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้เลี้ยงต้องหมั่นทำความสะอาด โดยการแปรงและสางขนแมวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการเกิดขนพันกัน ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค รวมทั้งพยาธิต่าง ๆ ที่จะเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบและเป็นที่อยู่ของเห็บหมัดอีกด้วย

          ส่วนในเรื่องของอาหารการกินนั้น ควรเลือกอาหารที่ช่วยให้ทางเดินอาหารของแมวไม่อุดตัน เนื่องจากแมวเปอร์เซียจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเลียทำความสะอาดขน อันเป็นสาเหตุในการกินหรือกลืนเส้นขนเข้าไปเป็นจำนวนมาก หากเส้นขนไปรวมตัวกันในช่องท้อง จะทำให้แมวเปอร์เซียมีอาการสำรอกหรือเกิดปัญหาของระบบย่อยอาหารได้






2. แมวอเมริกัน ชอร์ตแฮร์ (American Shorthair)
         แมวสายพันธุ์อเมริกาที่สืบเชื้อสายมาจากประเทศในแถบยุโรป และแพร่พันธุ์มายังอเมริกา เมื่อสมัยที่ชาวยุโรปเดินทางไปแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ โดยพวกเขาได้นำแมวอเมริกันชอร์ตแฮร์ ติดเรือไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้หนูทำลายข้าวของ และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งกลายเป็นแมวพื้นเมืองขนสั้นของอเมริกาไปในที่สุด

           
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวอเมริกัน ชอร์ตแฮร์
         สำหรับรูปร่างของแมวอเมริกัน ชอร์ตแฮร์ มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โครงสร้างลำตัวโต มีกล้ามเนื้อแข็งแรง มองเห็นชัดเจน อกใหญ่ ขาใหญ่ ใบหูมีขอบเป็นทรงกลมมน ส่วนหัวมีลักษณะรูปไข่ ดวงตากลมโตเป็นสีเขียวมรกต มีลักษณะสีขน และรูปร่างมากกว่า 80 แบบ

         ส่วนอุปนิสัยของอเมริกัน ชอร์ตแฮร์ พบว่า เป็นแมวที่ช่างสงสัย นิสัยร่าเริง ชอบเล่น มีเสน่ห์ แต่จะฝึกค่อนข้างยาก ดังนั้นหากเป็นไปได้ เจ้าของควรจะคลุกคลีและอยู่กับแมวให้มาก ๆ

            
การเลี้ยงดูแมวอเมริกัน ชอร์ตแฮร์
         ปัญหาของแมวพันธุ์อเมริกันขนสั้นส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อราและเป็นหวัดง่าย ถ้าหากเจ้าของให้การดูแลไม่ดีก็จะเลี้ยงลำบาก ฉะนั้นเจ้าของควรพาแมวไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนเป็นประจำ ส่วนปัญหาเรื่องขนร่วงมีน้อยมาก โดยจะร่วงเฉพาะในช่วงเวลาผลัดขนปีละ 2 ครั้งเท่านั้น








3. แมวสก็อตติช โฟลด์ (Scottish Fold)
          Susie เป็นแมวพันธุ์สก็อตติช โฟลด์ ตัวแรกที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1961 ที่ประเทศสก็อตแลนด์ แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครทราบชื่อสายพันธุ์ที่แท้จริง เนื่องจากลักษณะของ Susie มีใบหูพับ และยังมีใบหน้าที่คล้ายกับนกฮูก ซึ่งหลังจากที่ Susie ให้กำเนิดลูกแมวน้อยหูพับ 2 ตัว William Ross ชายเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบคนแรกก็ได้นำลูกแมวตัวเมียไปเลี้ยง หลังจากที่ลูกแมวตัวนั้นโตขึ้น จึงนำไปผสมพันธุ์กับ บริติช ชอร์ตแฮร์ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้ และได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องที่รับรองโดย The Governing Council of the Cat Fancy ของประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1966

            
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวสก็อตติช โฟลด์
          แมวสายพันธุ์นี้แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบขนสั้นกับแบบขนยาว โดยทั้ง 2 แบบจะมีลักษณะตัวกลม หัวกลม มีช่วงคอสั้น ดวงตากลมใหญ่ และมีหูตั้งตรงขนาดกลาง ไปจนถึงหูพับขนาดเล็กที่มีมุมพับกว้าง ปลายหูส่วนใหญ่จะกลม หูของลูกแมวจะเริ่มพับในช่วง 2-3  อาทิตย์แรก จมูกสันโค้งกว้างรับกับดวงตา ซึ่งบางตัวมีปากโค้งได้รูปรับกับคางพอดี จึงเป็นที่มาของสมญานามว่า Smiling Cat หรือ แมวยิ้ม นั่นเอง

          แมวพันธุ์สก็อตติช โฟลด์ เป็นแมวที่ไม่ค่อยส่งเสียง และชอบทำกิจกรรมในระดับปานกลาง พวกมันชอบที่จะเล่น เฉพาะเวลาที่มีเจ้าของมาร่วมเล่นด้วย บางตัวอาจไม่ชอบนอนบนตัก โดยเลือกที่จะอยู่ใกล้ ๆ กับเจ้าของแทน

          
การเลี้ยงดูแมวสก็อตติช โฟลด์
         การดูแลแมวสก็อตติช โฟลด์ ค่อนข้างง่าย แค่หมั่นแปรงขน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์สำหรับแบบขนสั้น แต่อาจจะต้องเพิ่มการดูแลมากขึ้นหากเลือกที่จะเลี้ยงแบบขนยาว โดยเฉพาะบริเวณใบหูของแมว ควรหมั่นทำความสะอาดบ่อยครั้ง พอ ๆ กับการแปรงขน และโดยทั่วไป แมวพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีร่างกายที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเรื่องอะไรที่น่าเป็นห่วงนัก








4. แมววิเชียรมาศ (Siamese)
          แมวไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อ Siamese Cat หรือ แมวสยาม หนึ่งในต้นตระกูลของแมวไทยที่ถูกนำไปปรับปรุงจนเกิดแมวไทยอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งตามตำนานสมุดข่อยได้กล่าวไว้ว่า หากใครได้เลี้ยงแมววิเชียรมาศ จะได้เป็นขุนนาง เพราะถือว่าแมววิเชียรมาศเป็นแมวลาภ อีกทั้งในอดีตยังเป็นแมวที่เลี้ยงกันในวังเป็นส่วนใหญ่ด้วย

          ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมววิเชียรมาศ
         เนื่องจากแมววิเชียรมาศเป็นแมวที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม 9 จุดอยู่บนตัว ได้แก่ ที่ปลายเท้าทั้งสี่ ปลายหูทั้งสอง ปลายหาง บนจมูก และที่อวัยวะเพศ ดังนั้นจึงถูกคนเข้าใจผิดบ่อย ๆ ว่า เป็นแมวเก้าแต้ม แต่ที่จริงแล้ว แมวเก้าแต้มเป็นชื่อของแมวไทยอีกชนิดหนึ่งที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

         ทั้งนี้ ไม่ว่าจะนำแมววิเชียรมาศไปผสมกับแมวพันธุ์อะไรก็ตาม ก็จะได้สีแต้มตามแบบ แต่แตกต่างกันในเรื่องของรูปร่างและอุปนิสัย อีกทั้งเมื่ออายุมากขึ้น สีแต้มก็จะเข้มขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้อาจจะมีสีแต้มที่แปลกแยกออกไป เช่น แต้มสีเทา สีแดง และสีกลีบบัว

          
ส่วนอุปนิสัยของแมววิเชียรมาศก็คล้ายคลึงกับแมวไทยทั่วไป คือ มีความฉลาด คล่องแคล่ว ปราดเปรียวเหมือนกับรูปร่าง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็สุภาพเรียบร้อย แม้ว่าภายนอกของแมววิเชียรมาศจะดูรักสันโดษ แต่ความจริงแล้วกลับไม่ชอบอยู่ตามลำพัง ดังนั้นมันจึงเป็นแมวขี้อ้อน ประจบประแจงเก่ง

            
การเลี้ยงดูแมววิเชียรมาศ

          ตอนกลางวันควรให้แมวอยู่อย่างอิสระในบ้านหรือนอกบ้านก็ได้ ตอนกลางคืนควรขังรวมกันไว้ในกรง กรงแมวต้องมีขนาดใหญ่ การเลี้ยงแมวในบ้าน แมวจะชอบขับถ่ายในที่ที่มีกลิ่นเหม็นหรือเป็นจุดอับ หากต้องการให้แมวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง ควรเตรียมกระบะทรายไว้ในบ้านด้วย แต่ที่ต้องระวังคือแมวตัวผู้ที่โตแล้ว มักจะขับถ่ายไม่เลือกที่










5. แมวโคราช (Korat)
          แมวพันธุ์นี้มีชื่อเรียกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แมวมาเลศ แมวดอกเลา หรือแมวสีสวาด เป็นหนึ่งใน 17 แมวมงคลของไทย ที่ได้รับพระราชทานชื่อมาจาก สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 ตามแหล่งกำเนิดของแมวพันธุ์นี้ ซึ่งพบใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชื่อเสียงของแมวโคราชโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากชนะเลิศงานประกวดประจำปีที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1966

           
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวโคราช
          ลักษณะของแมวโคราชจะมีขนเรียบ โคนขนสีเทาขุ่น ๆ ส่วนปลายขนเป็นสีเงินประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือผมหงอก และเป็นสีเช่นนี้ตลอดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายหาง สำหรับใบหน้าหากมองดูจากด้านหน้าจะเห็นเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูตั้ง ปลายหูมน โคนหูใหญ่ สำหรับแมวตัวผู้บริเวณหน้าผากจะมีรอยหยักทำให้เห็นเป็นรูปหัวใจเด่นชัดมากขึ้น ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปาก จะเป็นสีเงินหรือม่วงอ่อน

          
การเลี้ยงดูแมวโคราช
       
   โดยปกติแล้วแมวโคราชจะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 ปี ซึ่งวิธีการดูแลเหมือนแมวไทยทั่วไป แต่ควรใส่ใจเรื่องการถ่ายพยาธิและการฉีดวัคซีนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน 3 ชนิดต่อปีให้ครบถ้วน ซึ่งประกอบไปด้วย วัคซีนป้องกันหัดแมว ลูคีเมีย และพิษสุนัขบ้า







 6. แมวขาวมณี (Khao Manee)
         สำหรับแมวขาวมณีไม่มีหลักฐานยืนยันที่มาอย่างชัดเจน รู้เพียงว่า เริ่มพบเห็นมากในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแมวที่ติดมากับเรือสำเภาของพ่อค้าจีน ที่เลี้ยงไว้จับหนูบนเรือ แต่เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่ดูสะอาดและเป็นสีมงคลสำหรับคนไทย ดังนั้นแมวขาวมณีจึงกลายเป็นแมวบ้านนับจากนั้นเป็นต้นมา และที่สำคัญแมวพันธุ์นี้ยังเป็นแมวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษด้วย

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวขาวมณี
          เอกลักษณ์ของแมวขาวมณี นอกจากจะมีขนสีขาวปลอดทั่วทั้งตัวแล้ว นัยน์ตาทั้ง 2 ข้างของแมวขาวมณียังแตกต่างไปจากแมวไทยพันธุ์อื่น โดยมีทั้งนัยน์ตาสีฟ้า สีเหลืองอำพัน และตา 2 สี ลักษณะมาตรฐานของแมวขาวมณี หัวจะต้องกลมใหญ่คล้ายรูปหัวใจ จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ โคนหางใหญ่ แต่มีปลายแหลมชี้ตรง และต้องเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว ส่วนเสน่ห์ของแมวขาวมณีนั้น นอกจากขนสีขาวเนียนสนิท มันยังเป็นแมวที่ช่างประจบประแจง ขี้อ้อน ชอบเข้ามาคลอเคลีย และจะคอยสังเกตเจ้าของตลอด ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม

          การเลี้ยงดูแมวขาวมณี
          ส่วนมากมักจะนิยมเลี้ยงแมวขาวมณีแบบเป็นคู่ เพื่อให้พวกมันพลัดกันเลียขนเพื่อทำความสะอาด แมวพันธุ์นี้เป็นแมวเชื่อง และเชื่อฟังคำสั่งเจ้าของ จึงเหมาะกับการเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาได้ดีเลยทีเดียว





7. แมวเบงกอล (Bengal)
         แมวเบงกอลเป็นแมวที่มีลวดลายสวยงาม คล้ายลูกเสือดาวตัวน้อย ๆ คาดกันว่า แมวเบงกอลเกิดจาการผสมพันธุ์ระหว่างแมวดาวกับแมวบ้านสายพันธุ์อียิปต์เชียนมัวร์ (Egyptian Mau) ซึ่งเป็นแมวอียิปต์โบราณ ที่มีโครงสร้างเป็นลายจุด ลักษณะคล้ายแมวป่า โดยถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยฝีมือของ Jean Mills หญิงสาวชาวอเมริกัน ที่หลงใหลคลั่งไคล้ในลวดลายของแมวป่า พร้อมกับตั้งชื่อของมันตามชื่อวิทยาศาสตร์ของแมวป่าที่เรียกกันว่า Felis Bengolensis

          ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวเบงกอล
          แมวเบงกอลเป็นแมวขนาดปานกลางถึงค่อนข้างใหญ่ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง  เช่นเดียวกับรูปร่างที่มีลักษณะเพรียวยาว เห็นมัดกล้ามเนื้อชัดเจนคล้ายแมวป่า เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นว่า ช่วงสะโพกมีความสูงกว่าหัวไหล่ ปลายหางชี้ลง ใบหูกลมสั้น ตารูปไข่ มีช่วงปากกับจมูกกลมกว่าแมวบ้าน และมีจุดเด่นอยู่ที่ลายขนคล้ายแมวป่า หรือที่เรียกกันว่า ลายหินอ่อน

          ถึงแม้แมวเบงกอลจะสืบสายพันธุ์มาจากแมวป่า แต่พวกมันกลับมีนิสัยน่ารักไม่ดุร้ายอย่างที่คิด แถมยังเป็นมิตรกับทุกคนเสียด้วย นอกจากนี้แมวเบงกอลยังเป็นแมวที่ซุกซน เพราะชอบวิ่งไล่สิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งชอบปีนป่ายขึ้นที่สูงอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญแมวพันธุ์นี้ชอบเล่นน้ำเอามาก ๆ ด้วย

           การเลี้ยงดูแมวเบงกอล
          การเลี้ยงดูแมวเบงกอลก็เหมือนกับการดูแลแมวทั่วไป แต่ถ้าอยากให้มันมีสุขภาพดีและมีขนที่สวยงาม ควรใส่ใจในเรื่องอาหารเป็นพิเศษ โดยต้องเพิ่มเมนูเนื้อวัวสดจากอาหารที่กินเป็นประจำ ซึ่งเนื้อสดที่ให้ก็ต้องผ่านการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรากับแบคทีเรีย และห้ามให้เนื้อไก่หรือเนื้อหมูโดยเด็ดขาด





อ้างอิง : http://pet.kapook.com/view70394.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น